55 Years of TISCO's Artistic Journey: Where Vision Meets Value เรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ณ คลังศิลปะสะสมทิสโก้

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 67 | คอลัมน์ Living Art

นอกจากจะเป็นธนาคารเพื่อการลงทุน (Investment Bank) แห่งแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งมาครบรอบ 55 ปีแล้ว สำนักงานใหญ่ของทิสโก้บนถนนสาทร ยังทำหน้าที่เป็นคลังศิลปะสะสมทิสโก้ (TISCO Art Collection) แหล่งรวบรวมชิ้นงานศิลปะหลากหลายแบบจากเหล่าศิลปินไทย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กร และในขณะนี้มีงานศิลปะจำนวนมากถึงเกือบ 600 ชิ้นงาน 

file

    คุณศิวะพร ทรรทรานนท์ กรรมการผู้จัดการคนแรกของที่นี่เป็นผู้ริเริ่มซื้องานศิลปะมาประดับในออฟฟิศ เพื่อลดทอนความเป็นทางการของบรรยากาศโดยรวม นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสะสมงานศิลปะ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2512” คุณไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกำกับดูแลกิจการ และเลขานุการบริษัท กลุ่มทิสโก้ เล่าถึงที่มาของคลังศิลปะสะสมทิสโก้ “และนั่นยังถือเป็นจุดเริ่มของการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่แวดวงศิลปะไทย

    คำบอกเล่าของคุณไพรัชยังเห็นถึงจุดมุ่งหมายยิ่งใหญ่ที่ลึกซึ้งไปกว่าการเลือกสรรงานศิลปะมาเป็นองค์ประกอบตกแต่งสำนักงาน เนื่องด้วย 50 กว่าปีก่อน การซื้อขายงานศิลปะยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ตอนนั้นผลงานแนวศิลปะร่วมสมัยยังไม่มีตลาดรองรับ

    “คุณศิวะพรจึงเกิดแนวคิดที่จะส่งเสริมศิลปินไทย ท่านได้ร่วมมือกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ดํารง วงศ์อุปราช (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2542 ผู้เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) ที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) สหรัฐอเมริกา จัดงานนิทรรศการศิลปะที่ออฟฟิศทิสโก้ และเชิญเพื่อนนักธุรกิจและชาวต่างชาติที่ชื่นชอบงานศิลปะมาช่วยซื้อ แต่ละท่านก็ได้ชิ้นงานติดไม้ติดมือกลับไป ส่วนชิ้นที่เหลือทิสโก้ก็เก็บไว้เป็นงานสะสม ซึ่งเป็นการสะสมงานศิลปะจากการจัดนิทรรศการ 5 ครั้ง จนถึงครั้งสุดท้ายราว ๆ ปี  2529 ที่วงการศิลปะไทยพัฒนาไปมาก เริ่มมีงานนิทรรศการ มีแกลเลอรีเอกชน มีหอศิลป พีระศรี ทิสโก้จึงไม่ได้จัดงานในลักษณะ Collectors' Choice แบบนี้อีก แต่ยังคงตั้งงบประมาณซื้องานเพื่อสนับสนุนศิลปินอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน” 

กว่า 5 ทศวรรษกับเป้าหมายหนึ่งเดียว “สนับสนุนศิลปิน”  

    เดินทางมาไกล 5 ทศวรรษ คลังศิลปะสะสมทิสโก้ยังคงยืนหยัดเป้าประสงค์สูงสุดหนึ่งเดียวตลอดมา “เป้าหมายสูงสุดและเป้าหมายเดียวของเราตั้งแต่ต้นคือ การสนับสนุนศิลปิน เราจึงซื้องานโดยตรงจากศิลปิน ไม่ซื้องานผ่านแกลเลอรี ไม่ประมูลงาน เพราะเราต้องการให้เงินที่เราซื้อไปถึงมือคนสร้างงาน สำหรับเรา การซื้องานศิลปะเป็น CSR (Corporate Social Responsibility) รูปแบบหนึ่งที่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการศิลปะไทยด้วย” คุณไพรัชกล่าวหนักแน่น จากนั้นจึงอธิบายถึงหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ของการคัดเลือกชิ้นงานเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งในคลังศิลปะสะสมทิสโก้

   “พวกเราไม่ได้เลือกงานตามกระแสหรือชื่อเสียง แต่เลือกชิ้นงานที่เข้ากับออฟฟิศทิสโก้ เพราะจุดประสงค์นำมาประดับที่สำนักงานเพื่อให้ทั้งพนักงานและลูกค้าชื่นชมร่วมกัน ในปัจจุบัน เรามีกลุ่มคณะกรรมการที่มีความสนใจเรื่องศิลปะมาช่วยกันคัดเลือกงาน ถ้าเห็นชอบตรงกันก็จะตัดสินใจซื้อ โดยซื้อชิ้นงานของแต่ละศิลปินไม่เกิน 2 - 3 ชิ้น เพื่อให้เกิดการสนับสนุนที่หลากหลาย โดยเน้นที่งานของผู้ที่มีความตั้งใจจริงต่อการเป็นศิลปิน ต้องการเลี้ยงชีพด้วยการสร้างงานศิลปะ เพราะทิสโก้อยากเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนศิลปินใหม่ให้ได้เติบโตในเส้นทางศิลปะ”

    ความตั้งใจสนับสนุนศิลปินใหม่ ทำให้ทิสโก้มีส่วนร่วมต่อยอดการเติบโตของศิลปินระดับชั้นครูมาตั้งแต่วันที่พวกท่านเริ่มต้นสร้างสรรค์งานศิลปะในขวบปีแรก ๆ ของอาชีพศิลปิน “ในแต่ละปีเราซื้องานประมาณ 6 - 7 ชิ้น ด้วยงบประมาณหนึ่งล้านบาทในทุกปี แล้วชิ้นงานของศิลปินใหม่ไม่ได้แพง เราซื้องานในราคาหลักพันหรือหลักหมื่นบาทต้น ๆ จากศิลปินใหม่เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่วันนี้หลายท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก บางท่านเป็นศิลปินแห่งชาติก็ทำให้งานที่อยู่กับทิสโก้มีคุณค่ามากขึ้นไปด้วย มีชิ้นงานที่พอประเมินงานออกมาแล้วมีมูลค่าถึง 35 ล้านบาท แต่ตอนซื้องานมาที่ราคา 6,000 บาท ซึ่งย้ำว่า แรกซื้อเราไม่ได้มองสิ่งนี้เป็นการลงทุนเพราะไม่เคยคิดจะขายงานที่มี แต่การที่งานมีคุณค่ามากขึ้นคือความภูมิใจของเรา เพราะนั่นหมายถึงศิลปินที่เราสนับสนุนเขาประสบความสำเร็จในชีวิต” 

file

    คุณไพรัชยกตัวอย่างผลงานของอาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ผู้ล่วงลับ ที่ภายหลังได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม เป็น 1 ใน 100 สุดยอดผลงานศิลปะร่วมสมัยไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 สาขาทัศนศิลป์ แต่ตอนที่ศิลปินยังมีชีวิตอยู่ ชิ้นงานไม่ได้รับความสนใจมากนัก เนื่องจากเป็นการสะท้อนภาพชีวิตของศิลปินที่แฝงอารมณ์เศร้าไว้ในภาพ หากเมื่อเวลาผ่านไป ผลงานเหล่านี้กลับมีคุณค่าอย่างยิ่ง ได้แก่  ภาพ “สู้ชีวิต” และอีกภาพสำคัญคือ ภาพ “เหลืองระทม” ที่ปัจจุบันได้รับการประเมินมูลค่าสูงสุดถึง 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

    นอกจากนี้ การทยอยสะสมชิ้นงานศิลปะด้วยหลักการที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อวงการศิลปะ โดยทุกวันนี้ผลงานที่มีมากถึงเกือบ 600 ชิ้น จึงเป็นเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ของทั้งทิสโก้และวงการศิลปะ “เราซื้องานจากศิลปินใหม่โดยดูจากคุณภาพของงานเป็นหลัก ดังนั้น งานสะสมที่นี่จึงไม่มีธีม (Theme) เพราะเราไม่เคยบอกให้ศิลปินสร้างงานขึ้นมาสำหรับเราโดยเฉพาะ ศิลปินทำงานตามที่ตัวเองต้องการ ดังนั้น งานที่เรามีจึงหลากหลาย ทั้งในแง่ศิลปิน ชิ้นงาน ประเภท เทคนิคการสร้างสรรค์งาน และยุคสมัย เมื่อชมคลังศิลปะสะสมของทิสโก้ก็เหมือนได้เห็นพัฒนาการของวงการศิลปะไทย ตั้งแต่ปี 2512”

    ในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 55 ปีขององค์กร ทิสโก้กำลังพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่งานศิลปะในคลังสะสมให้สามารถเข้าชมผ่านช่องทางออนไลน์ “ทิสโก้กำลังอัปเดตระบบฐานข้อมูลและปรับปรุงเว็บไซต์ของทิสโก้อาร์ต เพื่อใช้ช่องทางนี้เผยแพร่งานออกสู่สาธารณะในวงกว้างขึ้น โดยออกแบบให้สามารถดูงานได้หลายรูปแบบ อาทิ เรียงตามตัวอักษร ลักษณะของแกลเลอรีจําลอง โดยสามารถดูจากมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตก็ได้” คุณไพรัชอธิบายถึงโปรเจกต์ใหญ่ที่กำลังดำเนินการอยู่

file

การให้การสนับสนุนก้าวแรก ๆ ของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ 

    อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2560 ศิลปินชั้นครูที่มีผลงานโดดเด่นในแนวนามธรรม (Abstract Art) คือหนึ่งในกลุ่มศิลปินที่ทิสโก้ได้มีโอกาสซื้องานเก็บไว้ในช่วงแรก ๆ ของการเริ่มต้นอาชีพศิลปิน

    “ผมเป็นศิลปินกลุ่มแรก ๆ เลยครับที่ทางทิสโก้ได้ซื้อชิ้นงานเก็บไว้” อาจารย์สมศักดิ์เล่าถึงความทรงจำประทับใจ เมื่อครั้งเริ่มต้นเส้นทางศิลปะในฐานะศิลปินอาชีพ “มันเป็นความรู้สึกปลาบปลื้มเพราะตอนนั้นเป็นแค่เด็กรุ่นใหม่คนหนึ่งที่อยากทำงานศิลปะ แล้วทางทิสโก้ก็สนับสนุนด้วยเห็นคุณค่าของผลงานเรา เชิญเข้ามาแสดงงานและยังซื้องานเก็บไว้เพื่อนำไปเผยแพร่ให้คนได้ชื่นชม ผมคิดว่ามันมีผลมากต่อความรู้สึกของคนทํางานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในแนวทางไหน หากได้รับการตอบรับจากผู้เสพงาน ย่อมรู้สึกยินดีและมีกำลังใจ เป็นก้าวแรกที่ทำให้เรามีความมั่นใจในอาชีพศิลปิน และยังทำให้เรามีเงินทุนเพียงพอที่จะสร้างผลงานต่อไปเรื่อย ๆ”

    นอกเหนือจากความภาคภูมิใจส่วนตัวของศิลปินแล้ว การซื้องานศิลปะของทิสโก้ยังช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้เป็นอย่างดี “ถ้าพูดถึงในแง่ของศิลปินย่อมเกิดความภูมิใจอย่างที่บอก แต่สิ่งที่ทิสโก้ทำยังสร้างความยิ่งใหญ่กว่านั้นในแง่ของการรับรู้จากสังคม เพราะเป็นการช่วยสร้างชื่อเสียง สร้างเครดิตให้ศิลปินรุ่นใหม่ให้เป็นที่น่าจับตามองในสังคม และเป็นโอกาสทองที่ทำให้เขาได้เริ่มต่อยอดสร้างชื่อเสียงต่อไป”

    อาจารย์สมศักดิ์ยังได้เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมถึงก้าวแรกแห่งความงอกงามของวงการศิลปะไทยในช่วงเริ่มต้นยุค 70 โดยมีทิสโก้เป็นส่วนประกอบหลัก ในฐานะองค์กรเอกชนที่ให้ความสำคัญแก่การสนับสนุนศิลปินไทย “ทิสโก้เป็นบริษัทเอกชนและเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกเลยที่ให้การสนับสนุนศิลปะ เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ องค์กรจัดโครงการเกี่ยวกับศิลปะ มีการเริ่มจัดประกวดงานศิลปะ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ทำให้วงการศิลปะเริ่มเฟื่องฟูขึ้น”

    ในฐานะที่คร่ำหวอดในวงการศิลปะ ในฐานะศิลปินที่ยึดมั่นการสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องตลอดมา อาจารย์สมศักดิ์มองว่า ในยุคปัจจุบัน โอกาสทางศิลปะได้เปิดกว้างขึ้น ผ่านโลกออนไลน์ที่สามารถเชื่อมโยงทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อศิลปินทั่วโลกที่จะเผยแพร่ผลงานของตนเองในระดับนานาชาติ แต่เมื่อย้อนมองกลับไปยังยุคเริ่มต้นของอาจารย์สมศักดิ์หรือในยุคก่อนหน้านั้น การที่นักศึกษาศิลปะจะยืนหยัดประกอบอาชีพศิลปิน ต้องอาศัยพลังใจเป็นสิ่งขับเคลื่อนอย่างมาก และการเป็นศิลปินอิสระก็ยากมากด้วยเช่นกัน คนที่จะยืนหยัดทำงานศิลปะเรื่อยไปจึงมีน้อย ดังนั้น สิ่งที่ทิสโก้ได้ริเริ่มให้แก่วงการศิลปะจึงเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยจุดประกายความสนใจของสังคม การสร้างกำลังใจแก่ศิลปินในการเดินหน้าสร้างผลงาน รวมทั้งเหล่าชิ้นงานในคลังศิลปะสะสมทิสโก้ยังป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะไทยด้วยเช่นกัน

มุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะกับการร่วมงานคลังศิลปะสะสมทิสโก้

    วันนี้ ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพิทักษ์พล วิสุทธิ์อัมพร เลขาธิการมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ที่มีความผูกพันลึกซึ้งกับคลังศิลปะสะสมทิสโก้ โดยเรื่องราวเริ่มต้นขณะที่ท่านยังเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

    “ก่อนเรียนจบ ผมได้มาขอทุนที่ทิสโก้เพื่อไปทำงานศิลปะ ใครจะไปคิดครับว่าเด็กนักเรียนตัวเล็ก ๆ ได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับคุณศิวะพร ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งของที่นี่ในตอนนั้น แล้วท่านก็อนุมัติเงินสนับสนุนให้ไปทำงาน และนั่นเป็นพลังสนับสนุนของทิสโก้แก่ผมที่ยังคงตอบแทนมาจนถึงปัจจุบันครับ”

    นอกจากดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 คุณพิทักษ์พลยังคงสานสัมพันธ์กับคลังศิลปะสะสมทิสโก้ผ่านโครงการสำรวจงานศิลปะ

    “ตอนที่เริ่มโครงการสำรวจงานศิลปะพร้อมกับการบันทึกสภาพและการประเมินราคา ทำให้ได้รู้จักกับงานทุกชิ้นที่อยู่ในคลังศิลปะสะสมของที่นี่ จากนั้นจึงเริ่มเห็นว่ามีความหลากหลายของชิ้นงานเยอะมาก บางชิ้นก็มีคุณค่าและมีมูลค่าสูงมาก แต่สิ่งที่ทิสโก้ทำไม่ใช่เพื่อเก็งกําไร แล้วสมัยก่อนก็คงไม่มีใครคิดจะลงทุนกับงานศิลปะ แต่ทิสโก้ริเริ่มซื้องานด้วยต้องการสนับสนุนศิลปิน โดยนอกจากสร้างกำลังใจแล้ว ยังเป็นทุนเพื่อให้ศิลปินทำงานต่อไปได้”

file
file

    ทุกครั้งที่มีโอกาสทำโครงการศิลปะร่วมงานกับทิสโก้นั้น คุณพิทักษ์พลกล่าวว่ายังได้เรียนรู้เรื่องงานศิลปะเพิ่มเติม รวมทั้งได้ร่วมงานกับทีมงานที่มีความผูกพันกับศิลปะซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขององค์กร “ทำงานกับทิสโก้ ให้ความรู้ผมด้วยนะ ทำงานที่นี่เหมือนได้ดูงานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ได้ความรู้ใหม่ ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับทีมงาน” คุณพิทักษ์พลกล่าวพร้อมรอยยิ้มก่อนจะอธิบายต่อ “ความรู้สึกของผมคือทีมงานทุกคนของคลังศิลปะสะสมทิสโก้ต่างรู้จักงานศิลปะ ให้เกียรติงาน เพราะอยู่ในองค์กรที่แวดล้อมด้วยชิ้นงานศิลปะ ทำให้เกิดการปลูกฝังมาตลอดอย่างเป็นธรรมชาติ”

    คุณพิทักษ์พลมองว่าทิสโก้เป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ได้บันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะไทยอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 ปี “ทิสโก้ไม่ได้จัดประกวด ไม่ได้ซื้องานจากศิลปินดัง แต่เลือกซื้อผลงานของศิลปินใหม่ที่ยังไม่มีคนมอง ทิสโก้จึงมีงานหลากหลาย ทั้งงานแอ็บสแตรกต์ หรืองานภาพพิมพ์ที่นักสะสมไม่เก็บแต่ที่นี่มีเยอะมาก ผลงานเหล่านี้เป็นการสะท้อนประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศไทย”

    แม้ไม่ใช่แหล่งรวมงานศิลปะที่มีมูลค่าสูงสุดหรือเป็นผลงานจากศิลปินดังที่สุด แต่สำหรับคุณพิทักษ์พลแล้ว คลังศิลปะสะสมทิสโก้ คือแหล่งรวมคอลเลกชันศิลปะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย “เราไม่ได้พูดถึงในแง่ชื่อเสียงของศิลปินหรือมูลค่าของชิ้นงาน แต่ที่นี่เป็นตัวบ่งบอกการเจริญเติบโตทางศิลปะของประเทศไทยดีที่สุด ในยุคแรกจะเริ่มมีงานแอ็บสแตรกต์ พอมาอีกยุคจะเริ่มมีงานที่เกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับการทดลองเทคนิคใหม่ มีงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ศิลปะในยุคต่าง ๆ ที่ทิสโก้คัดเลือกเก็บไว้ เป็นตัวแทนของความเคลื่อนไหวในสังคมไทยที่ชัดเจนที่สุด” คุณพิทักษ์พลกล่าวทิ้งท้าย