สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ธุรกิจแห่งสายน้ำที่อยู่คู่เมืองไทยมากว่าศตวรรษ บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาและสุภัทรากรุ๊ป

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 67 | คอลัมน์ People

file



ชีวิตคนไทยผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน ในอดีต การเดินทางทางน้ำเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบคมนาคมของประเทศ ขณะที่ปัจจุบันแม้ผู้คนจะมีทางเลือกการเดินทางที่มากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางด้วย “เรือ” ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สะดวก รวดเร็ว ราคาเหมาะสม นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งกลจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทย จากภาพที่เห็นจนชินตาคือ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติล่องเรือชมความสวยงามและวิถีชีวิตของสองฟากฝั่งริมน้ำเจ้าพระยา หรือนั่งเรือข้ามไปยังห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมถึงเดินทางไปโรงแรมสุดหรูด้วยเรือส่วนตัว

ด้วยเหตุนี้ ผู้ดำเนินธุรกิจเดินเรือโดยสารที่ดำเนินกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยามากว่า 104 ปี จึงกลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของระบบคมนาคมไทย และด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ “คุณสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม” ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และกลุ่มบริษัท สุภัทรา จำกัด วันนี้กลุ่มบริษัท สุภัทราฯ ได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร คอมมูนิตี้มอลล์ และโฆษณา รวมทั้งบุกไปเปิดกิจการที่หัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของไทย เช่น หัวหิน อยุธยา อีกด้วย

จาก “เรือแจวข้ามฟาก” สู่ธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยา

    ย้อนกลับไปราว 104 ปีก่อน คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ (คุณยายของคุณสุภาพรรณ) อดีตนางกำนัลของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 ได้ริเริ่มธุรกิจเรือแจวข้ามฟากขึ้นในปี 2463 ในเส้นทางท่าเรือพรานนก-วัดมหาธาตุ ขณะนั้นมีเรือแจวเพียง 2 - 3 ลำ และเก็บค่าโดยสาร 1 สตางค์

    ต่อมาในปี 2475 กิจการได้สืบทอดสู่ทายาทรุ่นที่ 2 คือคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ (คุณแม่ของคุณสุภาพรรณ) ซึ่งได้ตัดสินใจขยายธุรกิจ โดยซื้อเรือยนต์ข้ามฟากลำแรกในราคา 400 บาท ชื่อว่าเรือ สภ.1 จากนั้นก็ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท สุภัทรา ในปี 2506 หลังจากนั้นคุณสุภาพรรณที่จบการศึกษาปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์จาก American University ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานในเมืองไทยได้ระยะหนึ่ง ก็ถูกเรียกตัวมาสานต่อธุรกิจครอบครัวในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 เมื่อปี 2514 ขณะที่มีอายุ 26 ปี

    สำหรับธุรกิจเดินเรือ อันเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มบริษัท สุภัทราฯ ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท สุภัทรา โบ๊ท จำกัด ที่ขณะนี้ดำเนินธุรกิจมากว่า 103 ปีแล้ว โดยนอกจากเรือข้ามฟาก ก็ยังมีบริการเรือเช่าเหมาลำ เป็นเรือหางยาวเข้าคลองหรือล่องแม่น้ำ และยังให้บริการเรือ Shuttle แก่โรงแรมชั้นนำริมแม่น้ำ คอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้า เช่น โรงแรม Millennium Hilton โรงแรม Four Seasons โรงแรม The Siam คอนโดฯ Watermark และศูนย์การค้า ICONSIAM

    ต่อมาคือบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ซึ่งได้รับโอนกิจการเรือโดยสารมาจากองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในอดีตของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม เมื่อปี 2514 ปัจจุบันให้บริการเรือโดยสารประจำทางจากนนทบุรี-วัดราชสิงขร มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยราว 10.5 ล้านคนต่อปี และในปี 2567 จะมีเรือเหล็กอะลูมิเนียมโฉมใหม่ออกมาให้บริการอีกหลายลำ

    สุดท้ายคือบริษัท เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท จำกัด เป็นเรือท่องเที่ยวแบบ Hop on/Hop off 2 ชั้น โดยชั้นบนจะเปิดโล่งเพื่อให้ชมทัศนียภาพได้แบบ 360 องศา เน้นกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว โดยจะจอดที่ท่าเรือของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ เช่น เยาวราช ปากคลองตลาด วัดอรุณฯ พระบรมมหาราชวัง จำหน่ายตั๋วแบบ One Day Trip และ Single Trip ใช้ขึ้นลงได้ไม่จำกัดเที่ยว โดยปัจจุบันมีเรือรวมทั้งหมด 96 ลำ

    “ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นคุณแม่ทำงานกับเรือแล้ว แต่ดิฉันไม่ได้เรียนจบด้านการบริหาร พอเข้ามาช่วยธุรกิจคุณแม่ต้องลองผิดลองถูกกันไป พอปี 2532 ดิฉันขอคุณแม่ไปทำงานที่ธนาคารฮ่องกง เพราะมองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจเดินเรือ พอทำงานธนาคารได้ประมาณ 4 ปี คุณแม่เรียกให้กลับมาช่วยทำงานที่บ้านต่อ ดิฉันจึงไปเรียนปริญญาโทด้านการบริหารที่ศศินทร์ (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งเป็นรุ่นแรกด้วย

    หลังจากนั้น คุณอมเรศ ศิลาอ่อน เข้ามาเป็นประธานของบริษัทฯ ดิฉันก็ตัดพ้อกับท่านว่าไม่เห็นหนทางในการพัฒนาธุรกิจเดินเรือ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เราไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ท่านก็ตอบว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร ขึ้นอยู่กับตัวคนทำงาน ถ้าคุณคิดอยากให้เป็นอะไร ก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าคุณไม่คิดที่จะทำอะไรเลย ก็จะอยู่แค่นี้แหละ ซึ่งคำพูดนี้ล่ะค่ะที่เป็นจุดพลิกผันของธุรกิจ พอคุณแม่เสีย ตอนนั้นดิฉันอายุ 49 ก็เข้ามาเป็นรองประธานบริษัท พัฒนาเรือไปธุรกิจด้านท่องเที่ยวและขยายกิจการไปยังด้านอื่นๆ” คุณสุภาพรรณเล่าเท้าความถึงเรื่องราวในอดีต

เปิดอาณาจักรธุรกิจ “กลุ่มบริษัท สุภัทราฯ”

    เนื่องจากธุรกิจเรือโดยสารคือหนึ่งในบริการขนส่งมวลชน จึงต้องมีการควบคุมราคาโดยกรมเจ้าท่า สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยจะมีการพิจารณาปรับราคาค่าโดยสารทุก ๆ 10 ปี แต่เนื่องด้วยราคาต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยาประสบภาวะขาดทุนมาอย่างยาวนาน ดังนั้น เพื่อให้บริษัทเติบโตและก้าวต่อไปได้ คุณสุภาพรรณจึงตัดสินใจบุกเบิกธุรกิจด้านอื่น ๆ โดยต่อยอดจากจุดเดิมที่มีอยู่แล้ว

    “เราผูกพันใกล้ชิดกับน้ำมาตั้งแต่เกิด เรียกได้ว่าจิตวิญญาณของเราคือน้ำ คุณแม่ท่านจึงชอบซื้อที่ดินบริเวณริมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นลำคลอง แม่น้ำ หรือทะเล ทั้งแถวกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และอยุธยา นอกจากนี้ ท่านยังมองการณ์ไกลไปถึงการขยายธุรกิจในอนาคต จึงเลือกซื้อที่ดินที่สามารถสร้างท่าเรือได้ด้วย ซึ่งท่านเคยบอกว่าถ้าตรงไหนมีเรือขึ้น-ลง แปลว่าตรงนั้นจะเจริญ และเราก็เป็นผู้สร้างการคมนาคมสัญจร (Traffic) ให้กับพื้นที่นั้น ๆ แต่ในทางกลับกัน ถ้าสถานที่ไหนสวยงามน่าสนใจ แต่ไม่มีเรือโดยสารหรือรถมาจอด ก็อาจจะไม่มีคนแวะมาเลย เพราะเดินทางลำบาก เราจึงหยิบจุดแข็งคือการมีที่ดินริมน้ำมาขยายสู่ธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งกลายเป็นซิกเนเจอร์ว่าธุรกิจทั้งหมดของเราจะอยู่ริมน้ำ” คุณสุภาพรรณกล่าว

file
file






    สำหรับธุรกิจโรงแรมและที่พักของกลุ่มบริษัท สุภัทราฯ ในกรุงเทพฯ จะมีอยู่ 2 แห่ง คือ โรงแรม Riva Surya ถนนพระอาทิตย์ และโรงแรม Riva Arun ที่อยู่ตรงข้ามกับวัดอรุณฯ โดยชั้นดาดฟ้าจะเป็นร้านอาหารชื่อว่า Above Riva เป็นจุดชมวิวไฮไลต์อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรีสอร์ทสไตล์บาหลีอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชื่อว่า สุภัทรา หัวหิน รีสอร์ท ซึ่งอยู่ติดทะเลใกล้กับเขาตะเกียบ และเร็ว ๆ นี้จะมีโปรเจกต์ใหม่คือ พราโน โรงแรมกึ่งอะพาร์ตเมนต์บริเวณสี่แยกพรานนก โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือญาติผู้ป่วยที่ต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช รวมถึง Riva Hua Hin ริมทะเลเขาตะเกียบ และ Riva Ayutthaya ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเยื้องกับวัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา 

    ส่วนธุรกิจร้านอาหารจะมี 2 แห่ง ได้แก่ สุภัทรา ริเวอร์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบ้านของคุณหญิงสุภัทราที่อยู่ริมน้ำฝั่งธนบุรี แม้ว่าจะเคยปิดให้บริการในช่วง COVID-19 แต่ก็เตรียมเปิดรับลูกค้าอีกครั้งในเดือนมกราคม 2567 และอีกร้านหนึ่งคือ สุภัทราริมทะเล ตั้งอยู่ที่หาดเขาตะเกียบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

    ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ได้แก่ ท่าวังหลัง แหล่งของกินในย่านเก่าแก่ ตั้งอยู่ติดกับโรงพยาบาลศิริราช และศูนย์การค้าท่ามหาราช ตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ภายในศูนย์ฯ มีร้านค้า ร้านกาแฟ ร้านอาหารหลากหลาย ที่สำคัญคือราคาเป็นมิตร เพื่อให้นิสิตนักศึกษาในบริเวณใกล้เคียงสามารถเข้าถึงได้

file

    สุดท้ายคือธุรกิจสื่อโฆษณา ชื่อว่าบริษัท แอดซ์ เจ้าพระยา โดยจะทำสื่อโฆษณาสำหรับติดรอบตัวเรือ และตามท่าเรือ นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนสื่อโฆษณาของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบอีกด้วย

    “เราดำเนินกิจการมานานกว่า 104 ปีแล้ว เป็นธุรกิจของคนไทย เพื่อคนไทย และสร้างประโยชน์ให้กับสังคม อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่าการเดินทางด้วยเรือในบ้านเรา ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าการเดินทางด้วยเรือในแม่น้ำของนานาชาติ นอกจากนี้ ธุรกิจเสริมอื่น ๆ ที่เราทำจะเน้นความเป็นไทย ไม่ได้มองว่าต้องเป็นฝรั่งจ๋า อย่างร้านอาหารทุกแห่งจะชื่อว่าสุภัทรา เพราะเป็นชื่อที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้แก่คุณแม่เพื่อเป็นสิริมงคลและอยากจะเชิดชูเป็นเกียรติคุณแม่ ส่วนโรงแรมที่ชื่อ Riva เพราะเราอยากให้รู้ว่าตั้งอยู่ริมน้ำ หรืออย่างเรือก็จะตั้งชื่อเป็นสถานที่ตามเส้นทางของเรือนั้น ๆ เช่น เรือด่วนเจ้าพระยา ทั้งหมดนี้เพื่อแสดงความเป็นแบรนด์ท้องถิ่นของไทยเรา

    หรืออย่างการสร้างท่ามหาราช พัฒนาขึ้นจากข้อจำกัดของพื้นที่ เนื่องจากอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง จึงไม่สามารถสร้างตึกสูงได้ ถ้าเป็นโรงแรมอย่างมากก็ได้แค่ 2 ชั้น เราจึงเลือกสร้างเป็นศูนย์การค้าที่เน้นร้านอาหาร เพราะเดี๋ยวนี้ ถ้าคนต้องการซื้อของก็จะสามารถสั่งออนไลน์ได้ แต่ถ้าทานอหารจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ด้วย เช่น การได้ชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะธุรกิจที่เราทำจะขายวิว อาหารอาจจะราคาร้อยเดียว แต่วิวราคาร้อยล้าน” คุณสุภาพรรณกล่าว

file

ความสุขของลูกค้า คือความสุขของเรา

ท่ามกลางสภาพการจราจรที่ติดขัด หลายคนก็เลือกที่จะใช้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุผลสำคัญคือ “ความตรงเวลา” ซึ่งแทบจะไม่คลาดเคลื่อนจากตารางที่ระบุไว้ ทำให้วางแผนการเดินทางได้ง่าย สะดวกสบาย ทั้งยังราคาสบายกระเป๋าอีกด้วย ส่วนทางด้านธุรกิจโรงแรมและที่พัก คุณสุภาพรรณก็ให้ออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของตนเองในยามที่เป็นนักท่องเที่ยว คือไม่ชอบห้องที่เล็กและอึดอัด แม้จะราคาย่อมเยาว์ก็ตาม

“พื้นที่ของหัวหินมีไม่มากนักแล้วก็แพง แต่โรงแรมที่พักของเราจะราคาไม่สูงมาก แล้วคนที่มาพักจะต้องมีวิว ได้เห็นทะเลและหาดทรายที่สะอาด สิ่งเหล่านี้ เราคิดว่าผู้ประกอบการสามารถทำให้ลูกค้ามีความสุขกับสิ่งที่มีได้ด้วยราคาที่ไม่แพงมากนัก ซึ่งคือคุณค่าและความสุขของเราด้วย หรืออย่างการทำร้านอาหาร ถ้าลูกค้าเดินยิ้มเข้าไป เขาจะต้องเดินยิ้มออกมาด้วย ถ้าไม่ยิ้มแสดงว่าอาหารอาจจะไม่อร่อย หรือพนักงานบริการไม่ดี แม้กระทั่งพวกกลุ่มทัวร์เขาก็อยากกินอาหารอร่อย ๆ ในราคาไม่แพง ธุรกิจท่องเที่ยวคือเรื่องของความสุข และเราคือผู้สร้างความสุขให้กับพวกเขา” คุณสุภาพรรณกล่าว

เผชิญวิกฤตมากมาย แต่ก็ยืนหยัดมาได้นับร้อยปี

    แน่นอนว่าธุรกิจที่มีอายุนานนับศตวรรษ ย่อมต้องเผชิญเรื่องราวปัญหาและอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่สมัยสงครามโลก เหตุการณ์ทางการเมือง รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่คุณสุภาพรรณก็ไม่เคยคิดที่จะล้มเลิกกิจการ โดยหญิงแกร่งท่านนี้ได้เล่าถึงการปรับตัวให้พร้อมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า

     “ถ้าเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบมาก ๆ คงจะเป็น COVID-19 ซึ่งเราต้องปิดร้านอาหารสุภัทรา ริเวอร์ เฮ้าส์ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป ส่วนธุรกิจเดินเรือเราปรับตัวมาทำธุรกิจลอยอังคารให้เข้าถึงง่าย ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว ซึ่งเราจะจัดเตรียมทุกอย่างให้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ธูปเทียน นิมนต์พระมาสวด และเรือทุกลำสามารถขับไปจอดที่หน้าวัด หรือจุดที่ลูกค้าต้องการได้เลย และมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่เราต้องหยุดเดินเรือประมาณ 6 สัปดาห์ เพราะน้ำท่วมสูงมากจนเรือลอดใต้สะพานไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ทำให้เราผ่านมาได้คือกำลังใจ เราต้องมีความหวังในชีวิต เพราะถ้าคุณหมดหวังในชีวิตจะไปทำอะไรก็คงไม่ไหว ส่วนพนักงานเราต้องคุยกับเขาว่าปีนี้อาจจะไม่ดีอย่างที่คิด แต่อย่าเพิ่งท้อแท้”

ดูแลพนักงานเสมือนคนในครอบครัว

    การดำเนินธุรกิจให้มั่นคงและยั่งยืนมาร่วมศตวรรษ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ซึ่งกลุ่มบริษัท สุภัทราฯ มีพนักงานรวมทั้งหมดกว่า 600 ชีวิต และกว่าครึ่งหนึ่งคือพนักงานในส่วนของธุรกิจเดินเรือ ที่แม้ว่าจะเกษียณแล้ว แต่คุณสุภาพรรณก็ยังจ้างให้ทำงานต่อ “ตลอดชีวิตการทำงาน พนักงานไม่เคยทิ้งเรา ดังนั้นพอเขาอายุ 60 แล้ว เราจะทิ้งเขาไม่ได้ จึงจ้างต่อเป็นสัญญาจนกว่าจะมีญาติมารับไป แต่ถ้าตัวคนเดียวไม่มีญาติก็อยู่ด้วยกันที่นี่ล่ะ ยิ่งถ้าเป็นคนขับเรือที่อายุงานมาก ๆ ก็จะยิ่งมีความเชี่ยวชาญสูง อันนี้เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมโรงแรมและศูนย์การค้าต้องมาจ้างเรา ซึ่งเรามีการตรวจสุขภาพก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ หรืออย่างช่วง COVID-19 เราไม่ได้เอาพนักงานออกเลย เราดูแลทุกคน เพราะถ้าพนักงานไม่มีอนาคต บริษัทเราก็จะไม่มีอนาคตด้วย” คุณสุภาพรรณกล่าว

มุ่งบุกเบิกโรงแรมภาคเหนือ-ผลักดันเรือไฟฟ้า

    หลังจากส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันกลุ่มบริษัท สุภัทราฯ อยู่ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่นที่ 4 คุณปิ๋ม-ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม ลูกสาวคนเดียวของคุณสุภาพรรณ ที่นอกจากจะมาพร้อมความสวยโดดเด่นแล้ว ยังมีดีกรีปริญญาตรีด้าน Hotel Administration จาก Cornell University และปริญญาโทด้าน Real Estate จาก Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย เหมาะสมอย่างยิ่งกับการเป็น “กัปตัน” รุ่นต่อไป

    สำหรับแผนการในอนาคต คุณสุภาพรรณเผยว่า อยากจะขยายธุรกิจโรงแรมและที่พักไปยังภาคเหนือของประเทศไทย แม้ว่าจะไม่ได้มีที่ดินติดน้ำตามคอนเซปต์ แต่ก็อาจเบนเข็มไปยังที่ดินบริเวณภูเขาสวย ๆ แทน เรียกได้ว่ายังคงมีทัศนียภาพอันงดงาม ตามแบบฉบับซิกเนเจอร์โรงแรมและที่พักในเครือกลุ่มบริษัท สุภัทราฯ

    “ใครมาพักที่โรงแรมในเครือของเรา ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็มั่นใจได้เลยว่าวิวสวยแน่นอน การันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะให้ความสุขแก่ลูกค้าในมุมมองที่คนอื่นอาจจะทำไม่ได้” คุณสุภาพรรณกล่าว

    ส่วนเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวอยู่นั้น ทางกลุ่มบริษัท สุภัทราฯ ก็มีความสนใจและใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังเช่นกัน โดยเบื้องต้นในปี 2567 วัสดุที่ใช้สร้างเรือโดยสารจะเปลี่ยนจากไม้เป็นเหล็กอะลูมิเนียมทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีแผนผลักดันการใช้เรือโดยสารไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแบบเดิม ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ในการหาผู้ร่วมทุนศึกษาและวิจัย คาดว่าเราจะได้ใช้เรือโดยสารไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้

แพสชันและไลฟ์สไตล์ส่วนตัว

    บทบาทของคุณสุภาพรรณในทุกวันนี้คือการเป็นที่ปรึกษา ให้นโยบาย รวมถึงเป็นหลักสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งชีวิตในวัย 79 ปีของเธอยังคงแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า และมีแพสชันในการใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม สิ่งที่เป็นแรงผลักดันของเธอในแต่ละวันคือ การตื่นขึ้นมาแล้วมีอะไรให้ทำ และทำในสิ่งที่สร้างสรรค์เพื่อมอบประโยชน์ให้กับสังคม “ดิฉันไม่ได้มองว่าการทำธุรกิจจะต้องเป็นผู้รับอย่างเดียว แต่เราสามารถเป็นผู้ให้ได้เช่นกัน ที่ผ่านมาเราทำธุรกิจเดินเรือ ซึ่งถือเป็นผู้ให้กับสังคมและประชาชน แต่ไม่เคยเป็นผู้รับอย่างจริงจัง เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจที่ได้กำไรเยอะ คำว่าร่ำรวยมันไม่ใช่ประเด็นสำหรับเราตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะรวยหรือจน เราก็กินข้าววันละสามมื้อ ไม่ได้ทำให้เราiวยขึ้นหรือมีอายุยืนขึ้น” คุณสุภาพรรณกล่าว

    นอกเหนือจากการทำงานแล้ว ไลฟ์สไตล์ในวันสบาย ๆ ของคุณสุภาพรรณ คือการเล่นเปียโนร่วมกับวงดนตรีเพื่อออกแสดงคอนเสิร์ต อย่างเช่น The Starry Night ซึ่งเป็นงานฉลองครบรอบ 72 ปี  Cora Quiletorio อดีตนักร้องชาวฮ่องกงแห่งวง Blue Star Sisters ที่เคยโด่งดังในยุค 1960 และยังเป็นอาจารย์สอนดนตรี ซึ่งคุณสุภาพรรณคือหนึ่งในลูกศิษย์ของเธอนั่นเอง

    นอกจากนี้ คุณสุภาพรรณยังชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนไปตามหัวเมืองและประเทศต่าง ๆ อีกด้วย “ชีวิตทุกวันนี้อยู่กรุงเทพฯ และเดินทางไปที่ต่าง ๆ บางครั้งคนเราอยากทำโน่นทำนี่ แต่ไม่มีทางเลือก เพราะตัวเองหรือคนที่บ้านไม่สบาย ต้องอยู่ดูแล ดิฉันคิดว่าคนที่มีบุญคือคนที่มีทางเลือก เพราะอยากทำอะไรก็ได้ กินอะไรก็ได้ ดังนั้น อะไรที่ไม่ใช่ความสุขก็จะไม่ทำแล้ว เพราะเรามีทางเลือก มีอิสระเป็นเหมือนของขวัญในชีวิต ซึ่งดิฉันคิดว่าทุกวันนี้ตัวเองก็มีอิสระดีค่ะ” คุณสุภาพรรณกล่าวปิดท้าย

file ความประทับใจในฐานะลูกค้าทิสโก้มานานกว่า 55 ปี “เป็นลูกค้าทิสโก้มาตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2512 สืบต่อจากคุณแม่ (คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ) ความประทับใจคือทิสโก้เป็นธนาคารขนาดเล็ก ที่ไม่เปลี่ยนผู้จัดการหรือผู้ดูแลบัญชีลูกค้าบ่อย ๆ ทำให้มีความต่อเนื่องในการใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่หวือหวา และไม่มีวิกฤตรุนแรงตามความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ซึ่งเราไม่ได้ดูเพียงแค่ตัวเลขอย่างเดียว แต่ดูที่ความสบายใจในการใช้บริการด้วยค่ะ” คุณสุภาพรรณกล่าว